อยากเป็นทนาย ต้องทำยังไงกันนะ ??
“อาชีพทนายความ”
อาจเป็นความฝันของใครหลายคนที่เรียนจบนิติศาสตร์
ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพสุดฮิตอาชีพหนึ่งของเด็กนิติเลยก็ว่าได้
เพราะการจะเป็นทนายความได้ต้องเรียนจบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์มาเท่านั้น
แต่ทว่าก็ยังมีเด็กนิติหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
ผ่านกระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการอย่างไร ถึงจะเป็นทนายได้
ฉะนั้นวันนี้ ทนายรินรดาก็เลยขอแบ่งปันประสบการณ์การสอบเพื่อเป็นวิทยาทานค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 ได้วุฒิการศึกษาก่อน
ถึงแม้จะ อยากเป็นทนาย มากแค่ไหน
อันดับแรกก่อนสมัครเลยก็คือต้องได้อนุปริญญาสาขานิติศาสตร์หรือสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต
**อนุปริญญาก็คือใบคุณวุฒิที่แสดงถึงชั้นความรู้ระดับอุดมศึกษารองจากปริญญาตรีซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรที่กําหนดไว้ **
รายชื่อหลักสูตรอนุปริญญาและปริญญาตรีที่สภาทนายความรับรอง >> ตั๋วรุ่น / ตั๋วปี
ขั้นตอนที่ 2 สมัครฝึกอบรมกับสภาทนายความ
ในการสอบใบอนุญาตว่าความ (หรือที่เรียกกันว่าตั๋วทนาย) นั้น สภาทนายความฯได้จัดการทดสอบออกเป็นสองรูปแบบก็คือ
การสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการอบรมวิชาว่าความ (หรือตั๋วรุ่น)
การสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี (หรือตั๋วปี)
**ต่อจากนี้ขออนุญาตเรียกสั้นๆว่า “ตั๋วรุ่น”กับ “ตั๋วปี” นะ**
โดยตั๋วปีสามารถสมัครฝึกงานได้ทั้งปี โดยติดต่อสำนักงานที่สนใจฝึกงานพร้อมกับขอ แบบแจ้งฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี จากสภาทนายความฯ
(ขอได้ที่สภากลางเท่านั้น ขอที่สภาทนายฯ สาขาในต่างจังหวัดไม่ได้) เมื่อสมัครเรียบร้อย สภาทนายฯจะส่งใบกำหนดฝึกงานครบ 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว
ก็รอประกาศรับสมัครสอบใบอนุญาตว่าความประเภทผู้ผ่านการฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี
ส่วนตั๋วรุ่นจะเปิดรับสมัครอบรมประมาณ 3-4 รุ่น/ปี สมัครได้เมื่อมีประกาศรับสมัครอบรมจากสภาทนายความ ทั้งนี้จะฝึกงานในสำนักงานก่อนหรือไม่ก็ได้ และสภาทนายฯก็ไม่บังคับเข้าอบรมภาคทฤษฎีด้วย ฉะนั้นนับแต่สมัครอบรมจนถึงวันสอบภาคปฏิบัติ จะไปอบรมหรือฝึกงานหรืออ่านเตรียมสอบอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของผู้เข้าอบรม
ความเห็นของทนาย : หากเป็นคนจบใหม่ ยังไม่มีงานทำ แนะนำให้ฝึกงานจริงในสำนักงานจะดีกว่าการอ่านเอง เพราะได้เจอของจริงเลย โดยฝึกงานตั๋วปีพร้อมกับรอสมัครตั๋วรุ่นควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเก็บเวลาฝึกงาน
ส่วนการเตรียมเอกสารการสมัครและค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดได้ที่ ระเบียบการสมัครอบรมวิชาวิชาว่าความ ประเภทอบรมรุ่นและประเภทผู้ฝึกหัดงานในสำนักงาน 1 ปี
ขั้นตอนที่ 3 ทดสอบวัดความรู้
ความแตกต่างของตั๋วรุ่นกับตั๋วปีก็คือ “จำนวนครั้งที่ต้องสอบ” กับ “ระยะเวลาฝึกงาน”
โดยตั๋วรุ่น จะต้องผ่านการอบรมแล้วจึงสอบภาคทฤษฎีก่อน จากนั้นก็ฝึกงานเป็นเวลา 6 เดือน ถึงจะได้สอบภาคปฏิบัติ
แต่ตั๋วปี จะต้องผ่านการฝึกงานไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะสามารถสอบภาคปฏิบัติได้
ความแตกต่างของการสอบภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติก็คือ “แบบพิมพ์ศาล”
เนื่องจากการใช้แบบพิมพ์ศาลจะใช้สอบในภาคปฏิบัติเท่านั้น ส่วนภาคทฤษฎีใช้กระดาษ A4 เปล่าในการสอบ
ขั้นตอนที่ 4 สอบปากเปล่า
เมื่อผ่านการสอบภาคปฏิบัติแล้ว ผู้เข้ารับการสอบต้องผ่านการสอบปากเปล่า ซึ่งเป็นการสอบสัมภาษณ์ต่อหน้ากรรมการสองคน โดยกรรมการจะสุ่มถามผู้เข้าสอบประมาณ 2 คำถาม ผู้เข้าสอบจะต้องตอบให้ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและฉะฉาน หากสอบไม่ผ่านจะถูกแยกออกไปสอบอีกห้องหนึ่ง เรียกว่า “ห้องเย็น”
**แต่ยังไม่เคยได้ยินนะว่ามีคนสอบตกปากเปล่าตั๋วทนายจนต้องเข้าห้องเย็นนะคะ**
ขั้นตอนที่ 5 อบรมจริยธรรมและรับประกาศนียบัตร
เมื่อผ่านการสอบปากเปล่าแล้ว สภาทนายความฯ จะกำหนดวันอบรมจริยธรรมและวันรับประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมวิชาว่าความและผู้ผ่านการฝึกงานในสำนักงานไม่น้อยกว่า 1 ปี
ขั้นตอนที่ 6 ขึ้นทะเบียนทนายความ
เมื่อได้รับประกาศนียบัตรแล้ว ผู้ผ่านการทดสอบจะสามารถดำเนินการขอขึ้นทะเบียนทนายความได้ แต่ในการขึ้นทะเบียนทนายความนั้น ต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาในฐานะสามัญสมาชิก (เรียนจบเนติ) หรือ วิสามัญสมาชิก (ไม่จบเนติ แต่สอบใบอนุญาตว่าความผ่าน) เสียก่อน ซึ่งในการขึ้นทะเบียนเนติบัณฑิต จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หากใครไปขึ้นทะเบียนเนติบัณฑิตประเภทสามัญสมาชิกหรือวิสามัญสมาชิกแล้ว ก็สามารถขึ้นทะเบียนทนายความได้ในวันอบรมจริยธรรมเลย
**เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย**
สำหรับคนที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ จาก 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถขึ้นทะเบียนเป็นวิสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตได้เลย ตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 5 (1) โดยไม่ต้องรอสอบปากเปล่าผ่าน
แต่ถ้าไม่ได้สำเร็จการศึกษาจาก 5 สถาบันข้างต้น จะถือเป็นผู้สมัครตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507ข้อ 5 (2) จึงต้องสอบปากเปล่าให้ผ่านเสียก่อนจึงจะขึ้นทะเบียนสมาชิกได้
หากใครสงสัยว่าทำไมมีแค่ 5 สถาบันที่ได้สิทธิพิเศษล่ะ คำตอบก็คือ 5 สถาบันดังกล่าวเป็นสถาบันที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์มายาวนานจนมีชื่อเสียงในเรื่องมาตรฐานของบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ค่ะ แต่ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะการเป็นทนายไม่ได้วัดกันที่สถาบัน แต่วัดกันที่ความสามารถในการสอบ ไม่ว่าจะจบจากที่ไหน หากสอบใบอนุญา่ตผ่านก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีในการเป็นทนายเท่าเทียมกัน อีกทั้งเมื่อสอบผ่าน ตัวเราก็ถือเป็นหนึ่งในผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบัน เปิดทางให้รุ่นน้องในสถาบันเดียวกันได้มีโอกาสที่ดีขึ้นในทุกๆสนามสอบค่ะ
หากยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่เพจ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ หรือที่เว็บ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เลยนะคะ
แหล่งที่มา
ขอบคุณภาพจาก Melinda Gimpel และ Hunters Race
ขอบคุณแหล่งอ้างอิง สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ, สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
และโพสต์เรื่อง วิธีสอบตั๋วทนาย จากเพจ Ajarn Patcharada RU-Law ของท่านอาจารย์พัชรดา เอื้อวรรณกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง